วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

บุรีรัมย์ - ภาคเอกชนประสานเสียงต้านแผนแก๊ง ส.ส.“ทาสแม้ว” ผ่าแยก “จ.บุรีรัมย์” ตั้ง “จ.นางรอง” หอการค้าฯ ผวากระทบฉุดศักยภาพเศรษฐกิจ-การค้า-การลงทุน และท่องเที่ยวถดถอยทั้งจังหวัด ชี้ “นางรอง” เป็นอำเภอหน้าด่าน-เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมและพื้นที่เกษตรกรรมหลัก หากแยก 10 อำเภอไปตั้งจังหวัดใหม่ส่งผล “บุรีรัมย์” เป็นง่อยทันที จวกยับเป็นการผลาญงบฯ ประเทศชาติ ขู่หากดื้อดึงระดมม็อบต้านแน่ แฉเบื้องหลัง “เพื่อแม้ว” หวังยึดฐานการเมืองเบ็ดเสร็จพ้นเงื้อมมือ “เนวิน”
       
       วันนี้ (18 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่จังหวัดบุรีรัมย์มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ บร 0017.1/18165 ลงวันที่ 10 ต.ค. 2555 เรื่อง การพิจารณาจัดตั้งจังหวัดนางรอง ส่งไปถึงนายอำเภอนางรอง, ชำนิ, หนองหงส์, บ้านกรวด, เฉลิมพระเกียรติ, โนนสุวรรณ, ปะคำ, หนองกี่, ละหานทราย และนายอำเภอโนนดินแดง รวม 10 อำเภอ จากทั้งจังหวัด 23 อำเภอ พร้อมแนบหลักเกณฑ์การจัดตั้งจังหวัดใหม่ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2554 ไปด้วยนั้น
       
       นายวีระเดช ตั้งตรงเวชกิจ ประธานหอการค้าจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการแยกออกไปตั้งจังหวัดใหม่ เพราะหากมีการจัดตั้งจังหวัดนางรองแยกออกไปจาก จ.บุรีรัมย์ จะทำให้ธุรกิจการค้า การลงทุนลดลงหรือหดหายไปจากบุรีรัมย์ทันที เนื่องจากนางรองเป็นอำเภอหน้าด่านเศรษฐกิจ และเป็นเมืองเส้นทางผ่านเข้าสู่จังหวัดบุรีรัมย์และเชื่อมโยงกับภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรมของจังหวัดบุรีรัมย์นั้นปัจจุบันอยู่ในโซนอำเภอที่ขอแยกไปตั้งจังหวัดใหม่แทบทั้งสิ้น ทั้งการผลิตอ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา และข้าว
       
       “ขณะนี้เศรษฐกิจของจังหวัดบุรีรัมย์กำลังบูม มีการลงทุนเข้ามาในจังหวัดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจการก่อสร้างด้านอสังหาริมทรัพย์ มีร้านค้าวัสดุก่อสร้างทั้งในและต่างจังหวัดเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น หากมีการตัดอำเภอของจังหวัดบุรีรัมย์ออกไป 10 อำเภอ ซึ่งล้วนแต่เป็นอำเภอหน้าด่านด้านเศรษฐกิจก็จะทำให้บุรีรัมย์เหลืออำเภอที่เป็นพื้นที่ด้านเศรษฐกิจเพียง อ.ลำปลายมาศ, สตึก และ อ.ประโคนชัยเท่านั้น หากไม่รวม อ.เมือง ที่เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจการค้าของจังหวัดอยู่แล้ว” นายวีระเดชกล่าว
       
       ด้าน นายวสันต์ เทพนคร ประธานชมรมท่องเที่ยวและผู้ประกอบการโรงแรมจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้มีการแยก 10 อำเภอของจังหวัดบุรีรัมย์ออกไปตั้งเป็นจังหวัดนางรอง เพราะจะส่งผลกระทบด้านธุรกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะวนอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ และปราสาทเมืองต่ำ อ.ประโคนชัย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัด ได้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ส่งผลให้มีเม็ดเงินสะพัดจากการจับจ่ายซื้อสินค้าของฝาก ของที่ระลึก และใช้บริการตามแหล่งบริการ สถานบันเทิง ร้านอาหาร และที่พักโรงแรม รีสอร์ตต่างๆ
       
       “ไม่สมควรตั้งจังหวัดนางรองเพราะจะทำให้ประเทศสูญเสียงบประมาณโดยไร้ประโยชน์ เป็นการเอาเงินภาษีของประชาชนมาทำปู้ยี่ปู้ยำ ไหนจะต้องมีการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ เพิ่มขึ้นในเมื่อก็มีอยู่ครบถ้วนแล้ว อีกทั้งจะทำให้ศักยภาพของจังหวัดบุรีรัมย์ลดน้อยลงไปอีก เพราะขณะนี้เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่อยู่ลำดับต้นๆ ของประเทศนั้นดีอยู่แล้ว” นายวสันต์กล่าว
       
       ขณะที่ นายสุรศักดิ์ ลิ่มวิไลกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีการแยกตั้งจังหวัดนางรองออกจากบุรีรัมย์ แม้ว่าจะมีความพร้อมในทุกๆ ด้านก็ตาม เพราะขณะนี้ จ.บุรีรัมย์มีการเติบโตด้านเศรษฐกิจค่อนข้างสูง เกิดการจ้างงาน แรงงานมีฝีมือในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ระดับประเทศมองว่า บุรีรัมย์เป็นจังหวัดน่าลงทุน มีเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงกับอีสเทิร์นซีบอร์ด ภาคตะวันออกและอินโดจีน
       
       “หากมีการแยกตั้งจังหวัดนางรอง ศักยภาพเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมต่างๆ เหล่านี้จะลดน้อยลงหรืออาจหมดไปจากบุรีรัมย์ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมากกว่า 80% และอยู่ในพื้นที่ 10 อำเภอที่จะแยกตัวออกไปตั้งจังหวัดใหม่ จึงอยากให้ทุกภาคส่วนมองตรงจุดนี้ด้วย” นายสุรศักดิ์กล่าว
       
       ทั้งนี้ มีรายงานว่านักธุรกิจในจังหวัดบุรีรัมย์ได้รวมตัวกันเพื่อคัดค้านการจัดตั้งจังหวัดนางรองแยกออกจากจังหวัดบุรีรัมย์อย่างเต็มที่ โดยเตรียมระดมมวลชนออกมาเคลื่อนไหวทันทีหากมีการนำเรื่องขึ้นมาหารือในระดับจังหวัดและระดับรัฐบาล ตามการผลักดันของ นักการเมืองกลุ่ม ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่มีเบื้องหลังต้องการแบ่งแยกพื้นที่ฐานอำนาจทางการเมืองของกลุ่มนายเนวิน ชิดชอบ ออกไปจัดตั้งเป็นจังหวัดใหม่ของกลุ่มตัวเองแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่าจังหวัดน้องใหม่อย่าง จ.บึงกาฬ และ จ.หนองบัวลำภู รวมทั้งจะมีจำนวน ส.ส.เขตได้ถึง 4 คน จากปัจจุบัน จ.บุรีรัมย์มี ส.ส.เขต จำนวน 9 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น